ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานกับการจัดการกับความเครียด
นอกเหนือจากประโยชน์ของการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานที่มีต่อความฉลาดทางอารมณ์และศักยภาพการรับรู้ความสามารถของตนเองแล้ว การฝึกสมาธิในแนวนี้ยังมีประโยชน์ต่อการลดทอนความเครียดของคนเราได้อีกด้วย

ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยความเร่งรีบ การแข่งขัน การเอาตัวรอด
ตลอดจนสภาวะการณ์ต่างๆที่ไม่แน่นอนนั้น คนส่วนมากมักจะหลีกเลี่ยงกับปัญหาความเครียด
ในชีวิตประจำวันได้ยาก ความเครียดนั้นไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่ควรจะมองข้าม เพราะสุขภาพจิต
ที่เสียนั้นสามารถส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสภาวะทางกายโดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพและ
โรคร้ายต่างๆ เช่นมะเร็ง ความดัน และ โรคหัวใจ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากความเครียดด้วยกัน
ทั้งสิ้น ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้
อย่างมีประสิทธิภาพ


มีงานวิจัยให้การสนับสนุนว่าการฝึกสมาธินั้นจัดว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยให้คนเราขจัดความเครียดได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง แต่การที่เราจะเข้าใจได้ว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานจะช่วยให้เราจัดการกับความเครียดได้อย่างไร เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่าทำไมคนเราจึงเกิดความเครียด ถ้าจะว่ากันตามหลักทฤษฎีแล้ว ความเครียดนั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญกับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เราคิดว่ามันเกินกว่าความสามารถที่ตัวเราจะจัดการกับมันได้โดยง่าย จุดกำเนิดของความเครียดนั้นเริ่มต้นมาจากกระบวนการทางความคิด โดยสัญชาตญาณของมนุษย์แล้ว เมื่อเรารับรู้ ได้ยิน ได้เห็น ประสบพบพาน หรือหวนระลึกถึงอะไรสักอย่าง กระบวนการทางความคิดของคนเราก็จะเริ่มตีความก่อนในเบื้องต้นว่าเรื่องที่เรารับรู้นั้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเราตีความว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี สิ่งที่เรียกว่าความเครียดนั้นก็จะเริ่มก่อตัวขึ้นระดับหนึ่ง จากนั้นกระบวนการทางความคิดของเราก็จะพยายามคิดประมวลต่อว่าเราจะสามารถจัดการหรือแก้ไขกับเรื่องนั้นๆได้หรือไม่ ถ้าเราคิดว่าจัดการได้ เราควรจะแก้ไขอย่างไร ในขั้นตอนนี้หากโชคร้ายที่กระบวนการทางความคิดของเราไม่สามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่เรามีได้ มันก็จะพยายามคิดวนเวียนอยู่กับเรื่องนั้นๆสลับกับการคิดถึงผลกระทบที่เราจะได้รับจากมัน ในกรณีนี้ระดับความเครียดที่เรามีในเบื้องต้นก็จะเริ่มเพิ่มทวีขึ้น และตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าความคิดของคนเรานั้นมีความความสัมพันธ์กับอารมณ์เป็นอย่างมาก ความคิดที่เป็นลบที่เกิดจากความเครียดนี้ก็จะส่งผลให้อารมณ์ในด้านลบก่อตัวและทวีคูณขึ้นเช่นกัน ซึ่งอารมณ์ในด้านลบนี้เองก็จะกลับไปกัดกร่อนกระบวนการทางความคิดที่เป็นบวกซึ่งทำให้ความเครียดยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ในท้ายที่สุดความเครียดที่สะสมจากความคิดและอารมณ์ที่เป็นลบที่ไม่สามารถขจัดออกได้จะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า (Depression) หรือนำไปสู่พฤติกรรมที่จะก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อชีวิตเราในด้านต่างๆต่อไปได้

และเนื่องด้วยอิทธิพลของความคิดตลอดจนผลพวงของอารมณ์ที่ทำให้
ความเครียดก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้นนี้เอง การฝึกตามดูความคิด
และตามดูอารมณ์ของตัวเองตามหลักของการฝึกสมาธิแนวการเจริญ
สติปัฏฐานจึงมีส่วนสำคัญมากในการที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงกระบวน
การดังกล่าวได้กระจ่างมากขึ้น กระบวนการทางความคิดและการเชื่อม
โยงของความคิดกับอารมณ์นี้ หลายคนที่ไม่เคยฝึกสมาธิในแนวนี้อาจจะ
ไม่เคยได้รู้หรือไม่ทันได้สังเกตว่ามันเกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่สำหรับคนที่ฝึกการสังเกตความคิดของตัวเองตามแนวการเจริญ
สติปัฏฐานนั้นจะรู้ว่า เมื่อมีความคิดใดความคิดหนึ่งก่อตัวขึ้นและเราตาม
เฝ้าตามดูตามรู้มันด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริงโดยไม่คิดปรุงแต่งต่อแล้ว
ก็จะพบว่ากฎของ“อนิจจัง”หรือ ความไม่เที่ยงนั้นก็ครอบคลุมถึงความคิด
ของเราด้วยเช่นกัน

ความคิดนั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ยากจริงอยู่ ในทางจิตวิทยาเมื่อเราประสบกับเรื่องราวที่เลวร้ายและไม่น่าอภิรมย์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ก็เป็น ธรรมดาที่เรื่องราวเหล่านั้นจะถูกประทับอยู่ในความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) ของเราได้ง่าย แต่การที่ความคิดนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในหัวของเราไม่ไปไหนนั้นก็สืบเนื่องจากการที่เรายังคงไปคิดปรุงแต่งมันต่อ

ในพระพุทธศาสนามีคำกล่าวไว้ว่า “ความทุกข์ทางใจที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราเกือบทุกคนนั้นล้วนเกิดจากความคิดของเราเองทั้งนั้นธรรมชาติของมนุษย์เรานี้ก็แปลก รู้ทั้งรู้ว่าการที่เราคอยหวนคิดถึงเรื่องราวที่ไม่ดีขึ้นมาเมื่อไรใจเราก็ต้องเป็นทุกข์ทุกครั้ง แต่กระนั้นเราก็ยังคงชอบคิดวนเวียนอยู่กับสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นี้อยู่ไม่รู้จักจบจักสิ้นรู้ทั้งรู้ว่า เมื่อคิดมันก็เจ็บ ไม่คิดมันก็จบแต่เราก็ยังคงเลือกที่จะยึดติดกับความคิดนั้นโดยไม่ยอมปล่อยวาง มือของเราเมื่อสัมผัสกับของร้อนก็เป็นธรรมดาที่เราจะต้องรีบชักมือกลับอย่างไว แต่จิตของเราเมื่อสัมผัสกับความคิดที่ร้อนรุ่ม เรากลับยังคงจับมันไว้ในใจอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อย หลายคนอาจจะเถียงว่าก็ฉันไม่ได้ตั้งใจและก็ไม่อยากจะคิดหรอก แต่ความคิดมันชอบผุดเข้ามาและวนเวียนในหัวอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้จะต้องอธิบายให้เข้าใจเสียก่อนว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นแท้จริงนั้นไม่ได้ฝึกเพื่อที่จะทำให้เราไม่คิดหรือไม่รู้สึกรู้สาอะไรแต่เป็นการฝึกให้เรารู้และเข้าใจถึงธรรมชาติแห่งความไม่เที่ยงของความคิด และฝึกให้เราเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของความทุกข์ที่เกิดจากความคิดนั้นๆ

ในแวบแรกที่เรารู้ว่าความคิดความกังวลเริ่มก่อตัวขึ้น ให้ลองค่อยๆพิจารณาถึงอารมณ์ตัวเองดูว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ อะไรกำลังเกิดขึ้นกับใจเรา เราอาจจะรู้สึกได้ถึงความร้อนรุ่มหรือความกระวนกระวายที่เกิดขึ้นในใจ จากนั้นให้ลองค่อยๆพิจารณาดูว่าสิ่งที่เราคิดมันกำลังทำให้เรากำลังทุกข์อยู่ใช่ไหม การพิจารณาดังกล่าวนี้ต้องพิจารณาด้วยใจที่เป็นกลางโดยไม่ต้องไปคิดไปตัดสินว่าเราชอบหรือไม่ชอบมัน ค่อยๆตามดูตามรู้ความคิดและอารมณ์ที่ได้ก่อตัวขึ้น ดูถึงการตอบสนองของอารมณ์และความรู้สึก สิ่งนี่เองคือการปล่อยให้จิตทำงานด้วยตัวของมันเองโดยธรรมชาติโดยไม่ไปควบคุมมัน เราเป็นแค่เพียงคนคอยดูคอยรู้มันเท่านั้น เมื่อเราตามดูตามรู้ไปเรื่อยๆโดยไม่เข้าไปคิดแทรกแซงหรือปรุงแต่ง เราจะพบว่าในที่สุดแล้วจิตของเรามันจะค่อยๆคลายและถอนออกจากความคิดและอารมณ์นั้นด้วยตัวของมันเอง

การที่จิตสามารถคลายและถอนจากความคิดและอารมณ์นั้นๆก็เนื่องจากว่า
จิตของเราได้สัมผัสถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจแล้ว เหมือนมือของเราที่ได้
สัมผัสของร้อนจนต้องรีบชักมือกลับฉันใด จิตเมื่อได้สัมผัสถึงความร้อน
ในใจที่เกิดจากความคิดในด้านลบ ตัวมันก็อยากจะถอนตัวออกมาฉันนั้น
การพยายามฝึกตามดูตามรู้ความคิดด้วยใจที่เป็นกลางจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
ที่จะปล่อยให้จิตทำหน้าที่ด้วยตัวมันเองได้โดยง่าย เมื่อปราศจากความคิด
ปรุงแต่งของเราที่เป็นเหมือนดั่งพันธนาการที่คอยเหนี่ยวรั้งจิตไม่ให้ทำงาน
ด้วยตัวมันเองโดยอิสระแล้ว จิตมันก็สามารถที่จะปลดปล่อยตัวเองไม่ให้ไป
ยึดติดกับทุกข์จากความคิดของเราได้ ความคิดในแง่ลบที่ก่อให้เกิดความ
เครียดเมื่อปราศจากพลังจากการคิดปรุงแต่งต่อแล้ว มันก็จะหมดสภาพและ
ดับไปเองในท้ายที่สุด


ดังนั้น การฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานจึงสามารถช่วยให้คนเราลดและป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความเครียดได้ดี ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เกิดจากความคิดและความเครียดที่เกิดจากทางอารมณ์ ผู้ที่ผ่านการฝึกสมาธิจากการดูจิตมาเป็นเวลานานจนชำนาญแล้วจะพบว่า เมื่อมีความคิดหรืออารมณ์ในด้านลบเข้ามากระทบจิตใจ พวกเขาจะแค่ตามดูตามรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในใจของพวกเขาโดยปล่อยให้จิตมันทำงานของมันเองโดยอิสระ เมื่อทุกข์จากความคิดเกิด พวกเขาก็แค่รับรู้ว่าทุกข์นั้นได้เกิดขึ้น จิตของพวกเขาจะเข้าใจได้เองโดยธรรมชาติว่าไม่มีอะไรที่เป็นจีรังยั่งยืนตราบเท่าที่ไม่มีการไปปรุงแต่งต่อ จิตที่เข้าใจในธรรมชาติของความไม่เที่ยงนี้เองจึงเป็นหัวใจหลักที่ทำให้พวกเขาสามารถปล่อยวางความคิดและอารมณ์ในด้านลบที่ตัวเองประสบพบเจอได้ง่าย

 

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.