ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

กระบวนการวิจัยและผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ทางสถิติ
เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงจิตวิทยาตามที่ได้อธิบายมาข้างต้นหรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลทางสถิติมาเป็นหลักฐานเพื่อสรุปหาข้อเท็จจริง

ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์นั้นได้รวบรวมมาจากการสำรวจความคิดเห็นผ่านแบบสอบถามทางอินเตอร์เน็ตซึ่งประกาศผ่านห้องสนทนา (Webboard) ของเว็บไซต์เกี่ยวกับพุทธศาสนาต่างๆในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีจำนวนทั้งสิ้น 317 คน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลทุกเพศทุกวัยทุกสายงานอาชีพ ทั้งที่เคยปฏิบัติสมาธิและไม่เคยปฏิบัติสมาธิมาก่อน ซึ่งกลุ่มที่ฝึกสมาธินั้นเป็นการฝึกแนวการเจริญสติปัฏฐานทั้งสิ้น

ตัวชี้วัดเกี่ยวกับการฝึกสมาธินั้นคำนวณจากจำนวนเวลาที่ใช้ในการฝึกสมาธิต่อวัน จำนวนวันในการปฏิบัติสมาธิต่อสัปดาห์ และจำนวนปีที่ได้ทำการฝึกสมาธิ สำหรับตัวชี้วัดเกี่ยวกับความฉลาดทางอารมณ์ การรับรู้ความสามารถของตนเอง และความเครียดนั้น ประเมินจากแบบสอบถามที่ได้รับการยอมรับในวงการวิชาการสากล

ผลจากการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้สมการโครงสร้าง (Structural Equation Modeling) แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมามากและปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานนั้นมีความฉลาดทางอารมณ์ในระดับที่สูงกว่าผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมาน้อยหรือไม่ได้ปฏิบัติเลย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมามากและเป็นระยะเวลานานยังมีระดับความเครียดน้อยกว่าผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมาน้อยหรือไม่ได้ปฏิบัติเลยอีกด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากของผลการวิจัยนี้ก็คือ การปฏิบัติสมาธินั้นไม่มีผลทางตรงกับความสามารถในการรับรู้ความสามารถของตนเอง ผลที่ได้นั้นกลับแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมามากนั้นสามารถพัฒนาศักยภาพในการการรับรู้ความสามารถของตนเองผ่านความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นการส่งผลในทางอ้อม

ดังนั้นข้อสรุปเกี่ยวกับผลในทางสถิตินี้ก็คือ การปฏิบัติสมาธิเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถช่วยทำให้คนพัฒนาการรับรู้ความสามารถของตนเองได้โดยตรง แต่มันคือความฉลาดทางอารมณ์ที่ได้จากการฝึกสมาธินั่นเองที่ส่งผลให้คนพัฒนาความสามารถในด้านนี้ได้ ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ทางสถิตินั้นค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับคำหลักสอนเกี่ยวกับการทำสมาธิในหลักพระพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ว่า “การฝึกสมาธินั้นช่วยให้จิตใจเราสงบ เมื่อจิตใจเราสงบ เราก็จะสามารถมีปัญญาที่จะแก้ไขปัญหาในชีวิต” อารมณ์สงบในที่นี้สามารถสะท้อนได้จากความฉลาดทางอารมณ์ที่ได้จากการฝึกสมาธิ และปัญญาที่ใช้ในการแก้ปัญหาในที่นี้ก็สามารถสะท้อนได้จากศักยภาพในการรับรู้ความสามารถของตนเองซึ่งเกิดขึ้นจากอารมณ์ที่สงบนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่างานวิจัยในส่วนแรกจะพบว่าการฝึกสมาธินั้นสามารถส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาศักยภาพการรับรู้ความสามารถของตนเองได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วศักยภาพการรับรู้ความสามารถของตนเองนี้จะสามารถช่วยให้คนที่ฝึกสมาธิสามารถแก้ปัญหาในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ งานวิจัยส่วนต่อไปจะเป็นการวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้โดยละเอียด

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.