ประโยชน์จากการฝึกสมาธิ
หน้าแรก หน้า 2 หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 หน้า 6 หน้าสุดท้าย

งานวิจัยส่วนที่ 2:
ประโยชน์จากการฝึกสมาธิที่มีต่อทางเลือกในการจัดการกับปัญหาในการทำงาน

ในชีวิตการทำงานนั้นหลายๆคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่ต้องประสบกับปัญหาท้าท้ายที่ผ่านเข้ามาในที่ทำงานไม่เว้นแต่ละวัน ในทางจิตวิทยานั้นกล่าวไว้ว่า เมื่อคนเราประสบกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เรามักจะมีกลไกในการจัดการกับปัญหาหลักๆอยู่สองทาง ทางแรกคือการมุ่งแก้ปัญหา (Problem-focused coping) ซึ่งคนที่เลือกการใช้การจัดการกับปัญหาวิธีนี้จะเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง โดยจะพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุของปัญหาและหาวิธีทางในการแก้ไขมัน ในทางตรงกันข้าม กลไกในการจัดการกับปัญหาวิธีที่สองก็คือการมุ่งปรับอารมณ์ (Emotion-focused coping) ซึ่งคนที่เลือกใช้กลไกในการจัดการปัญหาวิธีนี้จะพยายามหลีกเลี่ยงหรือหนีปัญหาโดยไม่คิดหาหนทางแก้ไขมัน ตัวอย่างเช่นการพยายามหากิจกรรมบันเทิงต่างๆมาทำ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง กิน ดื่ม เที่ยว เพื่อไม่ให้ตัวเองคิดถึงปัญหาที่มีนั้น มีผลวิจัยทางจิตวิทยาหลายชิ้นให้การสนับสนุนว่าจริงๆแล้วการเลือกใช้วิธีแบบมุ่งปรับอารมณ์นั้นจะก่อให้เกิดผลเสียต่อคนเรามากกว่าการเลือกวิธีแบบมุ่งแก้ปัญหาสาเหตุหลักๆก็เนื่องมาจากว่าการหลีกเลี่ยงปัญหานั้นไม่สามารถทำให้เราพัฒนาความสามารถการเรียนรู้ในการที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลี่ยงเผชิญหน้ากับปัญหาแม้ว่าจะทำให้เราไม่ต้องเครียดกับปัญหานั้นๆ แต่มันก็ทำให้เราเลี่ยงได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อต้องพบเจอกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาอีกในอนาคต คนพวกนี้จะไม่รู้วิธีการจัดการกับปัญหาได้เลย และในท้ายที่สุดแล้วคนที่คิดแต่จะคอยหลีกหนีปัญหาก็มักจะประสบกับความเครียดสะสมมากกว่าเดิม แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่เลือกมุ่งเน้นการแก้ปัญหานั้นจะสามารถเข้าใจดีได้ว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาที่ผ่านเข้ามา การเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหายังช่วยให้คนพวกนี้สามารถจัดการปัญหาที่จะผ่านเข้ามาอีกในอนาคตได้อย่างดีอีกด้วย

ดังนั้น การเลือกกลไกในการจัดการกับปัญหาในการทำงานที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อตัวบุคคลากรเองและต่อองค์กร งานวิจัยในส่วนนี้มีจุดประสงค์ที่จะวิเคราะห์เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่าการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานนั้นมีส่วนอธิบายทางเลือกในการแก้ปัญหาทั้งสองวิธีตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ยังวิเคราะห์ว่าทางเลือกในการจัดการกับปัญหาทั้งสองวิธีนั้นมีผลสืบเนื่องต่อความเหนื่อยล้ากับงานและความพึงพอในงานของคนในองค์กรหรือไม่และอย่างไร ทั้งนี้การเลือกวิธีการจัดการกับปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพสามารถส่งผลกระทบต่อความเหนื่อยล้ากับงานตลอดจนความพึงพอใจของคนในองค์กรที่มีต่องานที่ทำได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้มีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการทำงานของคนในองค์กรเป็นอย่างมาก ความเหนื่อยล้ากับงานนี้เกิดจากความเครียดสะสมที่พนักงานได้รับจากการทำงาน ซึ่งความเหนื่อยล้ากับงานนี้เองก็ยังสามารถส่งผลเสียต่อความพอใจที่พนักงานมีต่องานในองค์กรอีกด้วย ความพึงพอใจในงานนี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรไม่ใช่น้อย เพราะมันเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะกระตุ้นให้พนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรได้อย่างเต็มที่ แต่ยังเป็นปัจจัยที่สามารถดึงดูดให้พนักงานทำงานให้กับองค์กรได้ในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ข้อมูลที่ใช้ในงานวิจัยเพื่อหาข้อพิสูจน์ทางสถิตินี้มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนทำงานทั้งหมด 147 กลุ่มตัวอย่าง ผลทางสถิติที่ได้นับว่ามีความน่าสนใจทีเดียว โดยเฉลี่ยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ปฏิบัติสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานมาเป็นระยะเวลานานและมากพอสมควรนั้นเลือกที่จะใช้วิธีการมุ่งแก้ปัญหามากกว่าการมุ่งแก้อารมณ์ แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติสมาธิหรือยังปฏิบัติไม่มากพอจะเลือกแนวทางการมุ่งแก้อารมณ์มากกว่าการมุ่งแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมยังพบอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติสมาธิเลือกใช้วิธีการมุ่งแก้ปัญหานั้นแท้จริงแล้วเกิดจากการศักยภาพการรับรู้ความสามารถของตนเองที่ผู้ปฏิบัติสมาธิได้พัฒนาขึ้นดังที่ได้ค้นพบในงานวิจัยชุดแรก ผลวิเคราะห์นี้สามารถสรุปได้ว่า การที่ผู้ปฏิบัติสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานเลือกที่จะใช้การมุ่งแก้ปัญหามากกว่าการมุ่งแก้อารมณ์นั้นก็เนื่องมาจากว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพเพียงพอในการที่จะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อมองย้อนกลับไป ความเชื่อมั่นในศักยภาพการแก้ปัญหานี้เองก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความฉลาดทางอารมณ์ดังที่ได้ค้นพบในงานวิจัยชุดแรก อารมณ์และจิตใจที่สงบของผู้ปฏิบัติสมาธิสามารถทำให้พวกเขามีสติในการพิจารณาไตร่ตรองศักยภาพที่ตัวเองมีได้อย่างถี่ถ้วนโดยไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์ในด้านลบ สิ่งนี้เองเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิมีความเชื่อมั่นว่าพวกเขาสามารถจัดการกับปัญหาที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้เป็นอย่างดี เมื่อประสบกับปัญหาในที่ทำงาน คนกลุ่มนี้จึงเลือกที่จะเผชิญกับปัญหาแทนที่จะหนีมัน ซึ่งผิดกับกลุ่มที่ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติสมาธิที่มักจะเลือกแนวทางในการหนีปัญหามากกว่า

นอกจากนั้น การวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมยังพบอีกว่าผู้ที่เลือกแนวทางการมุ่งแก้อารมณ์นั้นโดยเฉลี่ยนั้นประสบกับความเหนื่อยล้ากับงานในระดับที่สูงกว่าผู้ที่เลือกแนวทางการมุ่งแก้ปัญหา และความเหนื่อยล้าจากงานนี้เองยังส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้กลุ่มคนที่เลือกแนวทางการมุ่งแก้อารมณ์นี้มีความพอใจในงานในระดับที่ต่ำ ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกลุ่มที่เลือกแนวทางการมุ่งแก้ปัญหาซึ่งโดยเฉลี่ยนั้นมีความเหนื่อยล้ากับงานในระดับที่ต่ำและมีความพอในในงานในระดับที่สูง โดยสรุป ผลที่ได้ทั้งหมดนี้การสนับสนุนในทางสถิติเกี่ยวกับประโยชน์ของการฝึกสมาธิแนวการเจริญสติปัฏฐานในด้านของทางเลือกในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนประโยชน์ที่ตามมาในการช่วยลดระดับความเหนื่อยล้ากับงานและเพิ่มระดับความพอใจในงานให้สูงขึ้น

หน้าที่แล้ว หน้าต่อไป

 

 

 

 

Copyright © 2014
All rights reserved.